หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ในสมัยโบราณมีการใช้เปลือกต้นหลิว (willow) เป็นยาลดไข้ (antipyretic) และมีการค้นพบสารเคมีในเปลือกต้นหลิวคือ ซาลิซิน (salicins) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นแอสไพริน (aspirin) ได้ นอกจากนี้ยังค้นพบว่าในเปลือกซิงโคนา (cinchona) มีควินิน (quinine) ที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ได้ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เป็นยารักษามาลาเรีย

ในปี ค.ศ. 1880 เกิดภาวะขาดแคลนต้นซิงโคนา จึงได้มีคนพยายามที่จะหาทางเลือกสำหรับยาลดไข้ จนมีการค้นพบยาลดไข้ตัวใหม่คือ
     • ปี ค.ศ. 1886 พบ อะซิตานิไลด์ (acetanilide)
     • ปี ค.ศ. 1887 พบ ฟีนาซิตีน (Phenacetin)

ขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1873 ฮาร์มอน นอร์ทรอป มอร์ส (Harmon Northrop Morse) ก็สามารถสังเคราะห์ พาราเซตามอล โดยปฏิกิริยารีดักชั่น พารา-ไนโตรฟีนอล (p-nitrophenol) กับดีบุกในกรดอะซิติก (acetic acid) แต่ก็ยังไม่มีการนำพาราเซตามอลมาใช้เป็นยาลดไข้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1893 ได้มีการตรวจพบพาราเซตามอลในปัสสาวะของผู้ที่ใช้ยาฟีนาซิตีน และยังค้นพบว่าอะซิตานิไลด์ จะถูกเปลี่ยนเป็นพาราเซตามอลในร่างกายก่อนจึงสามารถออกฤทธิ์ลดไข้ได้ในปี ค.ศ. 1899

เนื่องจาก พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวด (analgesics) ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือดเหมือนยากลุ่มเอ็นเซด (non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้พิษสงของยานี้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พาราเซตามอลกลายเป็นยาประจำบ้านที่ขายดิบขายดี เป็นอะไรก็กินแต่พาราเซตามอล ปวดศีรษะ ไข้หวัด ก็พาราเซตามอล ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็พาราเซตามอล ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร ทำได้แค่ให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว บ้างก็มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมไปหาหมอรักษากัน พลอยทำให้โรคที่เป็นลุกลามมากขึ้น ต้องเสียเงินรักษามากขึ้นโดยใช่เหตุ

ในหลายประเทศได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจวิจัยพบว่ามีการใช้ ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเกิดพิษของพาราเซตามอลจำนวนมาก จนน่าตกใจจนต้องออกมารณรงค์ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น และเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษของยาให้ประชาชนตระหนักมากยิ่งขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ ใบปลิว เอกสารกำกับยา หรืออินเตอร์เน็ต

อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอล ที่พบได้มากที่สุด คือ พิษต่อตับ ทำให้ตับวาย รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่นนั้นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 
•
ที่เกิดจากความตั้งใจ ทุกคนคงทราบกันดี นั่นคือ การกินพาราเซตามอลประชดชีวิต การฆ่าตัวตาย ซึ่งบางรายก็แค่ต้องการประท้วง เรียกร้องความสนใจ นึกว่าพิษของพาราเซตามอลเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะพาราเซตามอลจะทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวายได้ ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้
 
•
ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ได้แก่ รูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อน โดยไม่รู้ตัว หากเป็นระยะเวลาไม่นานแค่ 2 ถึง 3 วันก็ยังพอไหว หากระยะเวลานานเป็นเดือนการเกิดพิษต่อตับคงเกิดอย่างแน่นอน ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง

เรื่องที่น่าคิดอีกเรื่อง คือ การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์ เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง ตับวายได้ หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเหยียบคันเร่งให้ตับพังได้เร็วยิ่งขึ้น คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า “ ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสม แอลกอฮอล์ ” เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่ บริษัทผู้ผลิตยาแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดใช้ถึง 8 ล้านดอลลาร์

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเตือนคุณผู้อ่านก็คือ เรื่องของยาตีกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง แต่เดิมไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย คิดว่าพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่มีพิษสงอะไร ไม่ตีกับยาอื่น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เนื่องจากระยะหลังนักวิจัยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะคนใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ยังกับพาราเซตามอลเป็นขนมอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างหนึ่งที่ดิฉันพบเองก็คือ พาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้ หากได้รับในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด จนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น

ทางที่ดีคุณควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ คือ ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มาตรวจสอบยากันดีกว่า
 
โชคดีมีออร์แกนิค
 
พิษร้ายของสเตียรอยด์
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.