หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การดูแลสมองของผู้สูงอายุ ให้ยั่งยืนยาวนาน (2)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 
การดูแลสมอง ด้วยการรักษาสุขภาพของร่างกาย คือ ควบคุมน้ำหนักอย่าให้อ้วน รักษาความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่และสุรา ระวังเรื่องการใช้ยาบำรุง ได้รับวิตามินที่พอสมควร และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บหลายๆ อย่าง

การดูแลสมอง ด้วยการดูแลสุขภาพของจิตใจ

สมองกับจิตใจ

ถึงแม้ว่าสมองจะเป็นที่ตั้งของความนึกคิด ของสติสัมปชัญญะ และจิตใจก็ตาม ในทางตรงกันข้าม จิตใจก็มีผลต่อสมองด้วยเหมือนกัน ผู้ที่เศร้าโศกหมดกำลังใจ ย่อมทำให้สมองทำงานเชื่องช้าไม่ปกติ การฝึกให้สมองดี มีพลังความคิดดีนั้น นอกจากทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีผลส่งให้เกิดความสุขสงบของจิตใจอีกด้วย ความเครียดต่างๆ คือศัตรูของจิตใจ แต่ถ้าเรารู้จักบริหารความเครียดเหล่านั้น จะทำให้ความเครียดหมดลง และมีจิตใจสุขสงบได้

 
1.
อย่าโกรธ ทุกครั้งที่เราโกรธ ผู้ที่ขาดทุนคือตัวเราเอง ความโกรธ คือ ศัตรูที่สำคัญมากต่อสมอง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ขณะที่เราโกรธ จะมีความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรงและเร็ว ร่างกายจะใช้พลังงานมากกว่าธรรมดา จะมีสารแอดดรีนาลินหลั่งออกมาในเลือด ทำให้หลอดเลือดต่างๆ หดตัว ทำให้เลือดไหลไปอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะหัวใจ และสมองน้อยลง และมีน้ำตาลหลั่งออกมาในเลือดมาก ทำให้ควบคุมเบาหวานไม่ได้ ผู้สูงอายุ ควรจะควบคุมความโกรธไว้ให้ได้ อย่าปล่อยตัวให้เป็นทาสของมัน ให้นึกไว้ในใจอยู่เสมอว่า อย่าโกรธ อย่าโกรธ เพราะเราจะขาดทุนตัวเราเอง
     
 
2.
อย่าเกลียด ความเกลียด คือ ต้นเหตุของความทุกข์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้าหากเราเข้าใกล้คนที่เราเกลียด เราจะเริ่มมีความเครียดเกิดขึ้นทันที ผู้สูงอายุควรควบคุม อย่าให้เกิดความเครียด โดยเปลี่ยนความเกลียด ให้เป็นความเมตตาสงสาร อยากที่จะช่วยเหลือ และถ้าเราช่วยได้ จะยิ่งทำให้เกิดปีติ และจิตใจสุขสงบมากขึ้น อย่าลืมว่า ความเกลียดกับการไม่ชอบนั้น คนละอย่าง เราอาจจะไม่ชอบได้แต่อย่าเกลียด ความเกลียดใกล้เคียงกับความโกรธ มักจะมีผลร้ายต่อร่างกาย ผู้สูงอายุที่สะสมไว้แต่ความเกลียด มักจะมีสีหน้าที่หม่นหมอง ขี้บ่น และลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้
     
 
3.
อย่าครุ่นคิดกับสิ่งร้ายๆ ซ้ำซาก ผู้สูงอายุที่ไม่มีอะไรจะทำ มักจะครุ่นคิดอยู่คนเดียว เรื่องร้ายๆ จะกลับไปกลับมาอยู่เสมอ ควรเตือนตัวเองว่าจะหยุดคิด และกลับไปคิดเรื่องที่ดี ที่งาม ที่มีประโยชน์ต่อไป การครุ่นคิดกลับไปกลับมา เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และมีผลร้ายต่อจิตใจอย่างยิ่ง

นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตของท่านเต็มไปด้วย เรื่องที่ร้ายร้ายอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเลย แสดงว่าการครุ่นคิดถึงเรื่องร้ายนั้น เป็นการคิดไปเอง ส่วนมากไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น คิดว่าคนไม่ชอบเรา เพราะเราหมดความสำคัญ ไม่มีประโยชน์ต่อใคร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะผู้สูงอายุมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในเรื่องประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิต
     
 
4.
ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีสิทธิพิเศษ สามารถจะเลือกทำสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น ไม่ต้องทำอย่างอื่น เหมือนที่ได้ทำมาแล้วในอดีต ไม่ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปทำงานตามเวลาที่กำหนด ไม่ต้องกลับบ้านในเวลาค่ำมืด ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่น จะเห็นว่าเราไม่มีประโยชน์ เพราะคนทุกคนในโลกมีประโยชน์ทั้งนั้น ผู้สูงอายุเหมือนคอมพิวเตอร์เก่า ที่แม้ว่าไม่ว่องไวเท่าคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ แต่ก็เต็มไปด้วยข้อมูล และประสบการณ์ ที่สามารถจะแนะนำผู้อื่นได้
     
 
5.
หาความสงบสุขให้กับจิตใจ โดยการศึกษาธรรม การฝึกสมาธิ วิปัสสนา ก็ช่วยให้จิตใจสงบได้ ควรทำพอประมาณ อย่าหลงและทำอย่างมากมาย จนนอนหลับพักผ่อนไม่พอ อันอาจจะทำให้จิตใจผิดปกติได้ การศึกษาธรรม จะทำให้เห็นความจริงในชีวิตหลายอย่าง และทำให้เราหยุดโลภ หยุดหลง และหยุดอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่เป็นศัตรูต่อจิตใจ
     
 
6.
อย่ากลัวความตาย ในส่วนลึกของความคิด ของผู้สูงอายุทุกคน จะนึกถึงวาระสุดท้ายของตน ว่าจะเจ็บไหม ทรมานมากไหม จะเกิดขึ้นเมื่อไร ถ้าครุ่นคิดแต่เรื่องนี้ จะเกิดความกลัว และรบกวนความสุขสงบ ของจิตใจอย่างมาก ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร เราควบคุมมันไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดถึงมัน ควรให้ความเชื่อมั่น ต่อการแพทย์สมัยนี้ว่า สามารถจะหยุดยั้งความปวด ความทรมานที่มีได้แน่ๆ และควรจะมองเห็นว่า ความตายเหมือนกับการนอนหลับนั่นเอง แต่เป็นการนอนหลับที่ยาวนาน พ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย
     
 
7.
ฝึกความจำไว้เสมอ อย่ายอมแพ้ต่อการเสื่อม ของร่างกายและสมอง วัยสูงอายุ มักจะมีปัญหาต่อความจำ โดยเฉพาะความจำของเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หัดฝึกความจำ โดยเพิ่มความสนใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อย่าทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ฝึกหัดจำหมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขใหม่ๆ หมายเลขบ้าน หรืออะไรก็ได้ที่ใหม่ๆ การฝึกเหล่านี้ จะแก้ไขเรื่องความจำไม่ดีได้อย่างมาก

ลับปัญญาของท่านให้คมอยู่เสมอ

ปัญญา คือ ความสามารถ ที่ทำให้เราเลือกทำสิ่งที่ควรทำ และเลือกคิดสิ่งที่ควรคิด ปัญญาเหมือนเลื่อยตัดไม้ ที่เราต้องลับให้คมอยู่เสมอ การศึกษา อ่านหนังสือ แสวงหาความรู้ต่างๆ จะเป็นการทำให้ปัญญาแหลมคมขึ้น
อย่าหยุดเรียน การเรียนเป็นการฝึกเพื่อความรู้ เพื่อทักษะและเพื่อทัศนคติ ทั้งสามอย่างนี้ คือ การทำงานของสมอง สมองที่ไม่ได้ใช้งานจะฝ่อ เหมือนกับกล้ามเนื้อ ที่ไม่ได้ใช้งานนานๆ ก็จะลีบ ถ้าหากท่านชอบเขียนภาพสีน้ำ สีน้ำมัน ท่านอาจจะเริ่มเรียนใหม่ ชอบดนตรีก็หัดเรียนเครื่องดนตรีที่ชอบ สมองจะได้รับการกระตุ้นอยู่เสมอ ทำให้ไม่เสื่อมตามวัย และรักษาไว้ได้นานแสนนาน

ลาภอันประเสริฐของผู้สูงอายุ คือ การมีสมองที่ดี ที่จะรักษาไว้ซึ่งคุณภาพชีวิต ชีวิตจะมีความหมายและความสุข

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ คงจะมีส่วนที่จะลับปัญญา ของผู้สูงอายุทั้งหลาย และเลือกคิดเฉพาะ สิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขสงบ ของจิตใจและร่างกายที่มีสุขภาพดี

 

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช
ศัลยกรรมประสาท

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 10 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
สมองเสื่อม. . . คืออะไร ?
 
อาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม
 
ภาวะสมองเสื่อม
 
ชะลออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
 
ทำอย่างไร ... ห่างไกล สมองเสื่อม
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.