หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การเปลี่ยนแปลงของ ระบบประสาท
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


น้ำหนักของสมองจะสูงสุดราว 1400 กรัม ที่อายุ 20 ปี และคงที่จนถึงอายุประมาณ 40 – 50 ปี จากนั้นลดลงราว 2 – 3 % ต่อ 10 ปี จนกระทั่งอายุ 80 ปี น้ำหนักสมองจะลดลงราว 10 % จากในวัยหนุ่มสาว เนื่องจากเซลล์ประสาทลดจำนวนลง ทำให้ขนาดของสมองเหี่ยวลง ช่องว่างระหว่างกลีบสมองถ่างกว้างออก สมองบางส่วนจะฝ่อตัวมากกว่าส่วนอื่น เช่นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความคิดอ่าน สติปัญญาที่กลีบสมองส่วนหน้า หรือส่วนซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับความจำที่ temporal cortex จะมีการสูญเสียเซลล์ประสาทมากที่สุดกว่าส่วนอื่น ขณะที่ก้านสมอง และไขสันหลังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง

การับรสและกลิ่น เนื่องจากต่อมรับรสที่ลิ้นลดจำนวนลง ประกอบกับน้ำลายจะข้นขึ้น ทำให้ช่องปากแห้งได้ง่าย ทำให้ความสามารถในการรับรสด้อยประสิทธิภาพลง ผู้สูงอายุจึงมักรับประทานอาหารรสจัดขึ้น โดยเฉพาะรสเค็มและรสหวาน

การมองเห็น มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ที่เปลือกตาบนจะตกลงเล็กน้อย น้ำตาในเบ้าตามากขึ้น เนื่องจากการอุดตันของท่อทางเดินน้ำตา และอาการเคืองตาเมื่อผู้ที่มีต้อกระจกอยู่ในที่ๆ มีแสงสว่างจ้า ม่านตามีขนาดเล็กลง เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนที่ควบคุมการขยายตัว ทำงานลดลง แก้วตาหรือเลนส์ จะขุ่นขึ้นจากการสะสมโปรตีนที่เสื่อมสภาพ ทำให้แสงผ่านเลนส์ลดลง นอกจากนั้นการมองเห็นสีจะลดลง 25% เมื่ออายุ 50 ปี และจะลดลงถึง 50 % เมื่ออายุ 70 ปี ผู้สูงอายุจึงมักชอบสีที่สดสว่างมากกว่าสีอื่น

การได้ยิน มีการเปลี่ยนแปลงของหูชั้นในที่เรียก Cochlear ทำให้สูญเสียความสามารถในการได้ยินเสียงความถี่สูงไป แต่ยังสามารถได้ยินเสียงในความถี่ต่ำ เหมือนวัยหนุ่มสาวที่เรียก Presbycusis

การทรงตัว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยเส้นประสาทที่รับผิดชอบอยู่ใกล้เคียงกับ ส่วนที่รับผิดชอบการได้ยิน อาการวิงเวียนศีรษะรู้สึกว่าบ้านหมุน จึงเป็นสิ่งที่ผิดปกติเสมอ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนท่าทาง และทิศทางของศีรษะรวดเร็ว

สติปัญญา พบว่าผู้สูงอายุจะสูญเสียความจำระยะสั้น ต้องใช้เวลานานขึ้นในการนึกทบทวน ขณะที่ความจำระยะยาว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานมาแล้วจะจำได้ดีกว่า ความสามารถในการแก้ปัญหาทางตรรกวิทยาลดลง ส่วนความสามารถในการเรียนรู้ จะลดลงเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป ปฏิกริยาของร่างกายในการตอบสนองทันทีต่อสิ่งเร้า ลดลงในคนอายุมากกว่า 70 ปีด้วย

การนอน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองขณะหลับ ทำให้ระยะเวลาที่อยู่ในระดับหลับสนิทสั้นลง ทำให้ตื่นกลางดึกได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในคนอายุ 65 – 95 ปี ผู้สูงอายุจึงมักรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับเคลิ้ม เหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม และพยายามพึ่งยานอนหลับมากเกินจำเป็น

ระบบประสาทอัตโนมัตจะลดประสิทธิภาพลง มีผลต่ออาการผิดปกติที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น อาการหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน หรือนั่งเร็วๆ จากความดันโลหิตที่ลดลง อาการปัสสาวะราด และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ชีพจรไม่เพิ่มมากเท่าที่ควร เมื่อมีการออกกำลังกาย ทำให้สมรรถภาพในการออกกำลังกายมีขีดจำกัด


รศ.นพ.ประเสริฐ  อัสสันตชัย

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th - คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
อาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม
 
ภาวะสมองเสื่อม
 
โรคซึมเศร้า
 
อัมพาตในผู้สูงอายุ
 
อาการปัสสาวะราดในผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.