หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
สายตามืดมัวเพราะ...ต้อกระจก
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 
ต้อกระจก คือ โรคของเลนส์แก้วตา ที่มีการขุ่นมัวขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมเลนส์แก้วตาจะใส และมีหน้าที่รวมแสงที่ผ่านเข้ามา ทางด้านหน้าของลูกตา เพื่อไปรวมกันที่จอประสาทตา เมื่อเกิดต้อกระจก ความขุ่นจะไปบังแสง ที่ผ่านไปที่จอประสาทตา ทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพมัวลง เหมือนมีหมอกมาบังตา ความสำคัญของต้อกระจก ก็คือว่า เป็นสาเหตุของตาบอด อันดับหนึ่งในประเทศไทย คือประมาณ 85% ของคนไข้ตาบอด และเป็นโรคที่สามารถผ่าตัด ให้มีการมองเห็นได้เหมือนเดิม

สาเหตุ

 
1.
เป็นไปตามวัยชรา จะพบว่า เมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาที่เคยใส จะเกิดอาการแข็งตัว และขุ่นลงเรื่อยๆ เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดกับทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 50-60 ปีขึ้นไป แต่บางคนอาจเป็นเร็วหรือช้า พบว่าประชากรที่มีการขาดสารอาหาร หรือที่ต้องโดนแสงแดดอยู่ประจำ อัตราการเกิดต้อกระจก จะเกิดได้ไวกว่า ต้อกระจกในวัยนี้ พบได้ทั้ง 2 ตา แต่ความรุนแรงของทั้ง 2 ข้าง อาจไม่เท่ากัน
 
2.
เป็นในเด็ก หรือตั้งแต่เกิด มักจะเกิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์ หรือการติดเชื้อ ระหว่างอยู่ในครรภ์ของมารดา เช่น มารดาเป็นโรคหัดเยอรมัน ระหว่างตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
 
3.
เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการกระแทก หรือมีของแหลมคม และเศษสิ่งแปลกปลอมทะลุตา
 
4.
โรคตาบางอย่าง ได้แก่ ต้อกระจกที่เกิดหลังอาการอักเสบของม่านตา หรือหลังผ่าตัดภายในลูกตา เช่น หลังผ่าตัดต้อหิน หรือจอประสาทตา
 
5.
โรคทางร่างกายบางอย่าง เช่น โรคของการติดเชื้อ โรคเบาหวาน ภาวะหลังผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์

อาการ

อาการเริ่มแรกของคนที่เป็นต้อกระจก จะพบว่าสายตาจะมัวลง โดยเฉพาะระยะไกล ถ้าใส่แว่นสายตาสั้น จะชัดขึ้นอยู่สักระยะหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ นอกจากมีอาการตามัวแล้ว จะพบว่าอาจเห็นเป็นภาพซ้อน โดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแดด อาการตามัว และเห็นภาพซ้อนจะมากขึ้น ถ้าอยู่ในที่ร่มหรือกลางคืน อาการตามัวจะน้อยลง อาการตามัวนี้จะค่อยมัวมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดจุดหนึ่ง แว่นตาก็ช่วยไม่ได้ 

การรักษา

การรักษาต้อกระจกมีวิธีเดียว คือ การผ่าตัดลอกเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออก แล้วใส่เลนส์เทียม ที่ใสเข้าไปแทน

การผ่าตัดลอกต้อกระจก ใช้วิธีฉีดยาชา หรือหยดยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ มี 2 วิธี คือ

 
1.
วิธีเปิดแผลกว้าง ลอกเอาต้อกระจกออก ให้เหลือเฉพาะเปลือกหุ้มต้อด้านหลัง เพื่อเป็นถุงให้ใส่เลนส์เทียม แล้วเย็บแผลประมาณ 7-10 เข็ม วิธีนี้จะต้องรักษาแผล ปิดแผลประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะเปิดแผลได้ และจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อให้แผลแข็งแรงพอ ที่จะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายได้ตามปกติ และระดับสายตาที่คงตัว
 
2.
วิธีใช้อุลตร้าซาวด์ สลายต้อ วิธีนี้เราจะเปิดแผลประมาณ 3 ม.ม. และสอดเครื่องมือที่มีหัวเล็กๆ ที่ปล่อยคลื่นเสียงอุลตร้าซาวด์เข้าไปในลูกตา เพื่อสลายให้เลนส์แตก และดูดออกมา ให้เหลือเฉพาะเปลือกหุ้มต้อด้านหลัง แล้วจึงจะฝังเลนส์เทียม วิธีนี้สามารถเปิดตาได้ในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ระดับสายตาก็จะอยู่ตัว และสามารถประกอบกิจการงานได้ตามปกติ วิธีนี้จึงเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน

เมื่อไหร่จึงจะผ่าตัด

เนื่องจากในปัจจุบัน การลอกต้อกระจก เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างง่าย และใช้เวลาในการรักษาไม่นาน ระยะเวลาที่ควรจะลอกต้อ จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ต้อแก่สุกมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่ระดับสายตาที่ลดลง มีผลต่อการทำงาน การดำรงชีวิตของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยหงุดหงิด จากการที่ระดับสายตาลดลง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน ความจำเป็น ในการใช้สายตาของผู้ป่วย

ถ้ายังไม่อยากลอกต้อกระจก ก็สามารถรอไปก่อนได้ ระหว่างที่รอ ควรต้องใส่แว่นกันแดด หรือใส่แว่นสายตาสั้น เพื่อให้ระดับสายตาใช้ได้ในระดับหนึ่ง สำหรับการหยอดยานั้น ยังไม่มีตัวยาใด ที่จะสามารถละลายต้อกระจกได้ สิ่งที่สำคัญในระยะนี้ก็คือ ควรไปพบจักษุแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจดูต้อว่าสุกงอมหรือไม่ ถ้าสุกจะต้องรีบลอก เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจมีโรคต้อหินแทรก ซึ่งจะทำให้ปวดตา และประสาทตาเสีย ทำให้ผลของการผ่าตัด จะไม่ดีเท่าที่ควร

 

 

แพทย์หญิงมันธนี ไพรัชเวทย์
แผนกตา

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 9 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
กล้ามเนื้อตา
 
โรคท่อน้ำตาอุดตัน
 
ไซนัสอักเสบ
 
ลมพิษ
 
โรคกระเพาะอาหาร
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.