หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
กินยาแก้ท้องอืด ... อันตรายหรือไม่
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


กินยาแก้ท้องอืด นานๆ เป็นอะไรมั้ยคะ คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ดิฉันได้ยินได้ฟังบ่อยๆ จากผู้ป่วย เป็นคำถามง่ายๆ ที่ตอบค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องทราบสภาวะโรคที่คนๆ นั้นเป็นอยู่เสียก่อนจึงจะตอบได้ว่าอันตรายหรือไม่ สำหรับตัวยาแก้ท้องอืดเอง รับประทานตามขนาดปกติ คงไม่ได้มีอันตรายอะไรมาก แต่สภาวะโรคที่ซ่อนอยู่ภายใน อันก่อให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นั้นมากกว่า ที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักอาการท้องอืดก่อนดีกว่าค่ะ

อย่างไรเรียกว่าท้องอืด

อาการท้องอืด ได้แก่ อาการปวดท้องส่วนบน ท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้อง เรอบ่อยๆ บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็ว หรือบางคนอาจจะมีอาการแน่นท้อง แม้กินอาหารเพียงเล็กน้อย แสบบริเวณหน้าอก

สาเหตุที่ทำให้ท้องอืด

 
•
โรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งในกระเพาะอาหาร พยาธิในทางเดินอาหาร เป็นต้น
 
•
โรคของทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี
 
•
โรคของตับอ่อน
 
•
โรคที่เกิดจากสิ่งภายนอก ได้แก่ ยาต่างๆ ที่เรารับประทาน ยาหลายชนิดจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ ยาแก้ปวดข้อทั้งหลาย ยาบางชนิด จะทำให้กระเพาะ และลำไส้บีบตัวน้อยลง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาปฏิชีวนะบางอย่าง เครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เช่น เหล้า เบียร์ จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ บุหรี่ อาหารที่ย่อยยากหลายอย่าง รวมทั้งอาหารที่มีกากมากๆ อาหารรสจัด
 
•
โรคทางร่างกายอย่างอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์

กินเผ็ดเสี่ยงท้องอืดหลายเท่า

พฤติกรรมในการรับประทานอาหารนั้น ก็เป็นที่มาของอาการท้องอืดด้วยเหมือนกัน ได้แก่ การรับประทานอาหารรสจัด ทำให้เยื่อบุอาหารอักเสบ การรับประทานอาหารรีบร้อน เคี้ยวไม่ละเอียด รับประทานครั้งละมากไป รวมทั้งการรับประทานอาหารย่อยยาก อาหารมัน อาหารประเภทผักซึ่งมีเส้นใยปริมาณมาก ร่างกายเราไม่มีน้ำย่อย ที่จะทำการย่อยเส้นใยเหล่านั้น

แบคทีเรียในลำไส้ จะเป็นตัวช่วยย่อยทำให้เกิดมีกรดบางอย่าง จึงทำให้ท้องอืดได้ ถ้ารับประทานปริมาณมากเกินไป แต่อาหารที่มีเส้นใยมากเหล่านี้ ก็มีประโยชน์ช่วยในการขับถ่ายสะดวก ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณพอเหมาะค่ะ สำหรับอาหารประเภทนม ในคนแถบเอเชียมักไม่มีน้ำย่อยที่ย่อยนม หรือมีปริมาณน้อย เมื่อรับประทานนมมากเกินไป ก็อาจจะทำให้มีอาหารท้องอืด หรือท้องเสีย

ท้องอืดบ่อยๆ ผิดปกติหรือ?

อาการท้องอืดกรณีที่นานๆ เป็นครั้งคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามีอาการบ่อยๆ ควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องอืด ในผู้สูงอายุอาการท้องอืด อาจเป็นอาการนำอันหนึ่ง ของมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน หรือมีอาการอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด ซีด ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการท้องอืดที่เกิดขึ้น เพราะอาจจะเป็นอาการนำของมะเร็งกระเพาะอาหารได้

โรคที่พบบ่อย ในคนที่มีอาการท้องอืด

ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่ท้องอืด ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี หรืออาหารไม่ย่อย เนื่องจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

บรรเทาท้องอืดเบื้องต้น

การแก้ไขเบื้องต้น อาจจะใช้ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาขับลม หรือ ยาธาตุน้ำแดง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รับประทานแต่พอควร ปริมาณไม่มากจนเกินไป ถ้ายังไม่ดีขึ้นหรือยังมีอาการบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์

รู้ไว้ใช่ว่า ยาแก้ท้องอืดมีอะไรบ้าง

 
•
ยาช่วยย่อย ได้แก่ ยาที่มีส่วนประกอบของเอนไซม์ต่างๆ ที่ช่วยย่อยอาหาร ได้แก่ cellulase, amylase, protease, ethypapaverine, diastase, lipase , bile extract, pancreatin rizolipase, papain, mamylase
 
•
ยาขับลม ได้แก่ simethicone, peppermint oil
 
•
ยาช่วยดูดซับแก๊ส ได้แก่ activated charcoal
 
•
ยาลดกรด ได้แก่ magnesium hydroxide, aluminum hydroxide, sodium bicarbonate
 
•
ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ ได้แก่ domperidone, cisapride, metoclopramide
 
•
ยาแก้ปวดเกร็งในช่องท้อง ได้แก่ hyoscine-N-butylbromide, dicyclomine, oxybutynin , chlordiazepoxide

การซื้อยาขับลม ยาแก้ท้องอืด หรือยาช่วยย่อย มารับประทานเองนานๆ มีผลอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ในกรณี ใช้เป็นประจำ

การรับประทานยาขับลม ยาช่วยย่อย อาจจะช่วยให้อาการท้องอืดดีขึ้นได้บ้าง แต่ถ้ามีอาการท้องอืดบ่อยๆ รับประทานยาทุกวันคงจะไม่ดีแน่ เพราะการรับประทานยาแก้ท้องอืด เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ อาการท้องอืดที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายอื่นๆ ได้แก่ กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งในกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง เพื่อไม่ให้โรคเป็นมากขึ้นได้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืด และรับการรักษา

 
•
ผู้สูงอายุ เช่น อายุเกิน 40 ปี เพิ่งจะเริ่มมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากพบว่ามะเร็งของกระเพาะอาหาร หรือตับมักจะพบในคนอายุเกินกว่า 40 ปี
 
•
คนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด
 
•
มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ
 
•
มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
 
•
ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
 
•
ปวดท้องมาก
 
•
ท้องอืดแน่นท้องมาก
 
•
การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป
 
•
ท้องอืด เจ็บแน่นหน้าอก และเหนื่อยหลังมื้ออาหาร

อาการท้องอืด นั้นดูเหมือนไม่มีอะไรร้ายแรง ซื้อยามารับประทานเองก็ช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากเป็นบ่อยๆ นานๆ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายอื่นๆ ได้ คุณจึงไม่ควรซื้อยามารับประทานนานๆ แต่ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืดที่เกิดขึ้น เพื่อทำการรักษาที่สาเหตุจะดีกว่า

 

ภญ. อัมพร อยู่บาง

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา
 
มาตรวจสอบยากันดีกว่า
 
ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย
 
ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี
 
ข้อควรรู้สำหรับผู้ใช้ยา
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.