หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด เป็นความรู้สึกบีบรัด และแน่นอึดอัดที่บริเวณหน้าอก หรือส่วนบนของร่างกาย มักพบในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการ เมื่อออกกำลังกาย และรู้สึกทุเลาเมื่อได้พัก อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจพบอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นเองในขณะพัก อาการเจ็บหน้าอกสามารถรักษาได้หลายวิธี ตามคำแนะนำจากแพทย์

การรักษา

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก เนื่องมาจากความผิดปรกติของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อาจใช้วิธีทดสอบบางอย่าง เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไข เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการวินิจฉัยแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การเดินบนสายพาน หรือฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เมื่อผลการวินิจฉัยเสร็จสมบูรณ์ ผู้ป่วยอาจจะได้รับคำแนะนำให้ เปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจวัตรบางอย่าง เช่น

 
•
ถ้าสูบบุหรี่ ควรเลิกสูบโดยเด็ดขาด
 
•
ลดปริมาณไขมันในอาหาร และพยายามควบคุมน้ำหนักตัว
 
•
พยายามควบคุมอารมณ์ให้สงบ เมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญความเครียด

รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ซึ่งได้แก่

 
•
พก Spray หรือยาอมใต้ลิ้น เพื่อใช้ทันทีเมื่อเกิดอาการ
 
•
รับประทานยาทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดอาการ
 
•
รับประทานยา เพื่อควบคุมความดันโลหิต
 
•
ในกรณีที่เป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ปรกติ

งดบุหรี่

การสูบบุหรี่จะลดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในกระแสเลือด และทำให้หลอดเลือดตีบลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการเจ็บหน้าอกเลวลง ดังนั้นการสูบบุหรี่ จึงถือเป็นตัวการสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ อัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจวายในคนที่สูบบุหรี่นั้น มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 2 เท่า การงดลูบบุหรี่ จะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจตั้งแต่ปีแรก และภายใน 3-5 ปี อัตราเสี่ยงนี้จะลดลงมาราวกับไม่เคยสูบบุหรี่เลย

จะงดบุหรี่ได้อย่างไร

ระลึกไว้เสมอว่าคุณต้องทำได้ ปีหนึ่งๆ มีคนงดสูบบุหรี่นับล้านคน มีหลายวิธีที่คนส่วนใหญ่พบว่าอาจมีประโยชน์ เช่น การตั้งจุดมุ่งหมาย ระบุวันที่จะงดสูบบุหรี่อย่างเด่นชัด บอกเพื่อนฝูงและญาติสนิท เพื่อจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ บางคนใช้การทดแทนนิโคตินจากแผ่นแปะผิวหนัง หรือหมากฝรั่งช่วย ซึ่งจะสามารถลดอาการข้างเคียงจากการงดสูบบุหรี่ คุณเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินใจว่า ควรจะเลือกวิธีไหน แพทย์และเภสัชกรสามารถให้คำปรึกษากับคุณได้

ลดความเครียด

ในชีวิตประจำวันมักจะมีความเครียดอยู่เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้และพยายามระงับอารมณ์อยู่ในความสงบ เมื่อต้องเผชิญภาวะเครียด จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ และลดการเกิดอาการเจ็บหน้าอก เพราะเมื่อคุณโกรธหรือเครียด หัวใจคุณจะเต้นเร็วขึ้นและทำงานหนักขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้

ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้

 
1.
พยายามจำไว้เสมอว่า ความเครียดจะส่งผลไม่ดีต่อหัวใจ
 
2.
ศึกษาวิธีผ่อนคลาย เช่น หายใจลึกๆ สอบถามคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์หรือเภสัชกร
 
3.
ถ้าพบว่ากำลังเผชิญอยู่กับภาวะเครียด พยายามทำให้จิตใจสงบและพยายามคิดถึงสิ่งต่างๆ ในแง่ดี
 
4.
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเครียดได้

ควบคุมน้ำหนักและอาหาร

น้ำหนักส่วนเกินจะทำให้หัวใจของคุณทำงานหนักขึ้น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น และจะทำให้คุณมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้ ถ้าคุณอ้วนเกินไป คุณควรลดน้ำหนัก โดยเปลี่ยนแปลงรายการอาหาร รับประทานอาหารน้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ลดอาหารประเภท

ไขมันจากสัตว์ หากคุณต้องการลดน้ำหนัก จงจำไว้ว่าการลดอาหารอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก คุณควรจะลดน้ำหนักอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่า

น้ำตาล ลดปริมาณขนมหวาน ไอศกรีม เค้ก และน้ำอัดลม

แอลกอฮอล์ แม้จะเป็นที่เชื่อกันว่าไวน์แดงปริมาณน้อยๆ จะเป็นผลดีต่อหัวใจ แต่อย่าลืมว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะให้พลังงานสูง ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อหัวใจ

อาหารต่อไปนี้จะช่วยให้ร่างกายสมดุลมากขึ้น

 
•
แป้งและอาหารที่มีกากมาก
 
•
ผักและผลไม้สด
 
•
ปลา

ผู้ป่วยอาจจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้จัดรายการอาหารที่เหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานยา - วัตถุประสงค์ในการรับประทานยา

 
•
ควบคุมและรักษาอาการเจ็บหน้าอก
 
•
ป้องกันการเจ็บหน้าอก
 
•
ลดความดันโลหิต
 
•
ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน

แพทย์อาจแนะนำให้คุณพกยาอมใต้ลิ้นหรือสเปรย์ เพื่อใช้ในเวลาที่คุณมีอาการเจ็บหน้าอก ยานี้ประกอบด้วย GTN (Glyceryltrinitrate) ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของหัวใจ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยานี้ ก่อนที่จะปฏิบัติภารกิจบางอย่าง ที่มักพบว่าทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก

ผู้ป่วยควรจะพกยานี้ติดตัวตลอดเวลาเผื่อฉุกเฉิน และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน

ถ้าสเปรย์หรือยาอมใต้ลิ้นไม่สามารถบรรเทาอาการ คุณควรจะใช้ยาอมใต้ลิ้นเม็ดที่สองหรือสเปรย์ซ้ำ ถ้าอาการยังไม่ทุเลา คุณควรจะนั่งลง และไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

นอกเหนือจากยาอมใต้ลิ้นและสเปรย์แล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยา เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งของการเจ็บหน้าอก ซึ่งยาที่ใช้นี้มีหลายกลุ่มที่แพทย์สามารถเลือกใช้ ขึ้นกับความดันโลหิตของผู้ป่วย ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอก แพทย์จะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะตัดสินใจว่า ผู้ป่วยควรจะใช้ยาชนิดใด ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามตาราง และคำแนะนำเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด

เนื่องจากยาแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน จึงต้องรับประทานในเวลาที่ต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรมีตารางการรับประทานยา และแบบแผนการปฏิบัติตัวเป็นของตนเองโดยเฉพาะ ถ้าต้องการให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วย

 
•
ต้องมั่นใจว่าเข้าใจคำแนะนำ หากมีข้อสงสัยรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
 
•
ควรศึกษาถึงอาการเจ็บหน้าอกและโรคหัวใจ รวมทั้งประโยชน์จากการใช้ยา
 
•
ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยา ก่อนที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
 
•
ถ้ายาที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล รีบบอกแพทย์หรือเภสัชกร
 
       
    แหล่งข้อมูล : มูลนิธิโรคหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์ - www.thaiheartfound.org  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
การตรวจสำหรับโรคหัวใจ
 
อาการโรคหัวใจ
 
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง
 
โรคหัวใจขาดเลือด
 
รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.