หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไร เมื่อเราอายุมากขึ้น
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตามมติที่นครเวียนนา พ.ศ.2525 ได้ประกาศว่า ผู้สูงอายุเป็นประชากรมนุษย์ ที่มีค่าของชาติ ฉะนั้นทุกประเทศ จะต้องดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ให้สามารถอยู่ทำประโยชน์ ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประเทศไทยของเรา มีประชากรสูงอายุประมาณ 5 ล้านคน เมื่อ พ.ศ.2543 คือ ประมาณร้อยละ 10 และมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการแพทย์เจริญขึ้น ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น ในขณะที่มีการควบคุมประชากรกันมาก เด็กเกิดใหม่น้อยลง

ในปัจจุบันนี้ คนไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 72 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 74.9 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 69.9 ปี เมื่อเรามีอายุยืนขึ้น สุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรา มีคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นที่เราจะต้องดูแลเอาใจใส่สุขภาพให้มาก

สุขภาพช่องปาก มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพช่องปากนั้นถือเป็นต้นทาง ของการมีสุขภาพที่ดี ถ้าเรามีเหงือกและฟันแข็งแรง เคี้ยวอาหารได้ดี รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ได้ครบถ้วน ก็ย่อมจะทำให้ สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรงด้วย

ความเปลี่ยนแปลงของช่องปาก

องค์การอนามัยโลก กำหนดคุณภาพชีวิตด้านทันตสุขภาพว่า คนเราเมื่ออายุเกิน 60 ปี ควรจะมีฟันที่ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ มีฟันกรามสบกันดีทั้งซ้ายขวา อย่างน้อยข้างละ 2 คู่ นอกจากนี้ ยังต้องมีเหงือกแข็งแรง ไม่เป็นโรคเหงือกอักเสบ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีสุขภาพช่องปากดี

ร่างกายของคนเราก็เหมือนกับเครื่องยนต์ ที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพไป เมื่อใช้งานนานเข้า เหงือกและฟันก็เช่นเดียวกัน จะมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย จึงมีการเข้าใจผิดว่า เมื่ออายุมากขึ้น ฟันจะหลุดไปเองตามธรรมชาติ แต่จากการที่องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดไว้เช่นนี้ ก็ย่อมแสดงว่า เราสามารถมีฟันไว้ใช้งานไปได้ตลอดชีวิต ตราบที่เราดูแลรักษาความสะอาด ไม่มีฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบเกิดขึ้น เราเองก็คงพบเห็น ท่านผู้สูงอายุหลายๆ คนที่มีฟันอยู่เต็มปาก แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม

ฟันที่ใช้งานมานาน หรือฟันที่มีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนสี จากขาวนวลเป็นสีคล้ำขุ่นขึ้น เพราะมีการสะสมของเซลล์เม็ดสีเพิ่มขึ้น เหมือนที่เกิดกับผิวหนังทั่วไป เหงือกจะร่นบริเวณคอฟัน ทำให้มองเห็นฟันซี่ยาวขึ้น เหงือกบริเวณซอกฟันจะหดตัวลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างซอกฟัน เศษอาหารติดง่าย ถ้าทำความสะอาดไม่ดี ก็จะทำให้ฟันผุ หรือเกิดเป็นโรคเหงือกอักเสบ จะเห็นได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเกิดฟันผุ บริเวณโคนฟันจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุ จะเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็น อาหารหวาน หรืออาหารและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เนื่องจากเคลือบฟัน จะสึกหรอไปจากการใช้เคี้ยวอาหาร หรือจากการแปรงฟัน

เนื้อเยื่อในช่องปาก ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุจะรู้สึกว่ารับประทานอาหาร ที่มีรสจัดไม่ค่อยได้ จะมีอาการแสบร้อนในช่องปาก บางคนจะมีอาการปากแห้ง น้ำลายน้อยลง โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร ต้องจิบน้ำบ่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ นอกจากนั้น อาการปากแห้ง อาจเกิดจากผลของการได้รับยาต่างๆ หรือภาวะผิดปกติบางอย่าง อาการปากแห้งนี้ หากเป็นมาก ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การดูแลทันตสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในการมีสุขภาพที่ดี

พฤติกรรมทันตสุขภาพที่พึงปรารถนา ซึ่งเป็นหนทางให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีมีอยู่ 6 ประการ คือ

 
1.
หมั่นตรวจฟันด้วยตนเอง เชื่อว่าหลายคนยังไม่เคยอ้าปากตัวเองดูเลย ทั้งที่ส่องกระจกทุกวัน เราควรจะตรวจดูเหงือกและฟันด้วยตนเอง โดยสังเกตสีของเหงือก เหงือกที่แข็งแรงจะมีสีชมพูอ่อน ซีด ถ้าเหงือกเป็นสีแดงแสดงว่า เหงือกมีการอักเสบเกิดขึ้น ลักษณะเหงือกจะไม่ค่อยเรียบ ผิวจะขรุขระเล็กน้อยพอสังเกตได้ คล้ายผิวส้ม ถ้ามีการอักเสบรวม เหงือกจะเรียบเป็นมันหรือมีหนองข้นสีขาวขุ่น เหมือนนมข้นไหลออกมาเมื่อเราใช้นิ้ว รีดเหงือกบริเวณคอฟัน

การมีฟันผุ สังเกตได้ไม่ยาก เพราะจะเห็นมีเส้นหรือรูดำ หรือน้ำตาลเข้มบนตัวฟัน โดยเฉพาะตามร่องฟันบนฟันกราม หรือตามซอกฟันบริเวณฟันหน้า แต่บางครั้งเส้นสีดำ หรือน้ำตาลที่เห็นก็อาจเป็นเพียงคราบสีที่ติดอยู่ได้ ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือแหลมๆ เขี่ยดูถ้าเป็นรูผุ ถ้าเขี่ยติด จะต้องอุดฟันซี่นั้นเพื่อป้องกันการผุลุกลามต่อไป

ฟันที่แปรงไม่สะอาด จะมีคราบอาหารมาเกาะติดที่ผิวฟัน ถ้าทิ้งไว้นานเข้า จะมีสารแคลเซียมมาพอกเกิดเป็นหินปูน ซึ่งจะเห็นเป็นคราบแข็งสีเหลืองหรือน้ำตาล และมักจะพบว่าเหงือกบริเวณนั้น จะมีอาการอักเสบด้วย

ฉะนั้น การตรวจช่องปากด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะทำให้สามารถพบความผิดปกติได้เร็ว การรักษาก็จะได้ไม่ยุ่งยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก

 
2.
รักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนเย็น เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำความสะอาดฟันและเหงือก แต่ต้องทำให้ถูกวิธีด้วย อย่างไรก็ดี การแปรงฟันอย่างเดียวจะทำความสะอาดฟัน ได้เพียงบางส่วน เพราะขนแปรงจะไม่สามารถเข้าถึงบริเวณซอกฟัน และร่องเหงือกได้ดีนัก จึงจำเป็นต้องใช้เส้นใยขัดฟันร่วมกับการแปรงฟันด้วยทุกครั้ง หรืออย่างน้อยวันละครั้งก่อนการแปรงฟันในตอนเย็น
 
3.
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เมื่อเรามีอายุมากขึ้นควรจะรับประทานผัก และผลไม้ให้มาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีวิตามินที่ช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และที่สำคัญผักและผลไม้ก็จะช่วยทำความสะอาดเหงือกและฟันของเราได้ด้วย
 
4.
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เกิดกลิ่นปากแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อร่างกายด้วย การป้องกันอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น สวมหมวกกันน็อคเมื่อขี่มอเตอร์ไซค์ หรือการสวมฟันยางเมื่อเล่นกีฬา ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
 
5.
ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนหรืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพของเหงือกและฟัน รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ ในช่องปาก ได้แก่ ลิ้น เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม การตรวจสภาพ ของฟันปลอมหรือวัสดุอุดฟันที่มีอยู่ว่าสมควรแก้ไขหรือทำใหม่หรือไม่ เพราะการใส่ฟันปลอม เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ฟันปลอมหลวมไม่กระชับกับสันเหงือก อาจจะทำให้มีเนื้อเยื่อ บริเวณใต้ฟันปลอมงอกเกินขึ้นมาโดยที่ไม่มีอาการใดๆ ก็ได้

วัสดุอุดฟันที่อุดไว้นานแล้วจะมีอายุการใช้งานระยะหนึ่ง มักจะพบว่า มีการรั่วของวัสดุอุดฟัน ทำให้เกิดมีการผุใต้รอยอุดนั้น หรืออาจพบวัสดุฟันเปลี่ยนสี หัก บิ่น และฟันบางส่วนก็แตกหายไปด้วย


 
6.
รับรู้ข่าวสารด้านทันตสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก ตลอดจนเทคนิคต่างๆ จะมีเผยแพร่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นบทความในนิตยสาร รายการสุขภาพทางวิทยุและโทรทัศน์เราควรศึกษาและเรียนรู้ เพื่อจะได้เข้าใจ และปฏิบัติตัวได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

การที่เรามีอายุมากขึ้น สิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือการมีสุขภาพดี ซึ่งจะเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ และการปฏิบัติตัวของเราเอง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะให้หรือซื้อขายกันได้


ทพญ. ฉวีวรรณ ภักดีธนากุล

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และการป้องกัน
 
โรคต้อกระจก
 
สุขภาพฟันในผู้สูงอายุ
 
ดูแลเท้าในผู้สูงอายุ
 
ตรวจร่างกาย ผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.