หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
สุขภาพฟัน ใน ผู้สูงอายุ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ปี 2542 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็นปีผู้สูงอายุสากล (1999 : International Year of Older Persons) หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความสนใจจัดกิจกรรม เพื่อผู้สูงอายุขึ้นมากมาย เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ทำให้มีการพิจารณาถึงวิธีการ และแนวทาง ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี

คุณภาพชีวิตของคนเรา มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับสุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดี หมายถึง ต้องมีทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี เมื่อสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็ดีไปด้วย สุขภาพกายดี หมายถึงกรปราศจากโรคทั้งปวง ทำให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคม อย่างมีความสุข

การปราศจากโรค เรามักจะมุ่งไปถึงแต่โรคทางพยาธิวิทยา ซึ่งใช้เครื่องมือชี้วัดทางคลินิก เป็นเครื่องตัดสิน เช่น ผลของน้ำตาลในเลือด ผลโคเลสเตอรอล เป็นต้น หรือโรคที่ปรากฏขึ้น ที่มองเห็นบนร่างกาย ลืมคิดถึงสุขภาพในช่องปาก ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นทางผ่านของอาหาร ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

สุขภาพในช่องปาก มีผลต่อสุขภาพกาย และใจของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก การรับประทานอาหาร การหัวเราะ ความสวยงามของใบหน้า บุคลิกภาพ ล้วนเกิดจากสุขภาพในช่องปากทั้งสิ้น ถ้าสุขภาพฟันดี ทำให้ผู้สูงอายุสามารถทานอาหารได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีความมั่นใจในตัวเอง สามารหัวเราะ หรือเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข

จากการสำรวจผู้สูงอายุ 623 คน อายุ 60-74 ปี ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยวิธีสัมภาษณ์พบว่า ร้อยละ 47.2 สุขภาพในช่องปาก มีผลต่อการเคี้ยวอาหารมากที่สุด ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันธรรมชาติเหลือ จะมีปัญหามากในการเคี้ยวอาหาร ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ผลกระทบต่อมาคือ ด้านจิตใจทำให้หงุดหงิด เนื่องจากปวดฟัน ฟันโยก ไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร หรือฟันปลอมไม่ดี หลวม หลุด ใช้งานไม่ได้ ใบหน้าจะเหี่ยวย่นไม่สวย เนื่องจากใบหน้าจะยุบเข้าไป ทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเองที่จะเข้าสังคม

โรคในช่องปาก ที่มักพบในผู้สูงอายุ คือ โรคเหงือก ภาษาแพทย์เรียกว่า โรคปริทันต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด ซึ่งมักจะพบมากในผู้ที่ไม่สนใจสุขภาพฟัน เริ่มต้นจากการอักเสบของเหงือกเล็กน้อย เมื่อขาดการเอาใจใส่ดูแล และรักษาโรคจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงกระดูกหุ้มรากฟัน (เยื่อปริทันต์) และลามไปถึงการละลาย ของกระดูกหุ้มรากฟัน ฟันจะโยก การโยกจะค่อยเป็นค่อยไป แรกๆ จะโยกเพียงเล็กน้อยก่อน ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะโยกมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจหลุดไปเอง หรือบางคนมีอาการปวดร่วมด้วย เมื่อทนไม่ได้ ก็ไปให้ทันตแพทย์ถอน

สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิด โรคปริทันต์ คือ แบคทีเรียหรือเชื้อจุลินทรีย์ ที่เป็นองค์ประกอบของคราบจุลินทรีย์ ที่ยึดเกาะผิวฟันบริเวณใกล้ขอบเหงือก และใต้เหงือกซึ่งก่อให้เกิดภาวะการอักเสบ

ระยะแรกการอักเสบ ในตอนแรกจะมีอยู่เฉพาะ บริเวณขอบเหงือก ลักษณะที่พบ คือ ขอบเหงือกจะมีสีแดงเห็นได้ชัด เหงือกปกติจะมีสีชมพู เมื่อมีการอักเสบ มักจะเกิดติดต่อกันหลายๆ ซี่ หรือทั้งปาก ระยะนี้ฟันยังแน่นอยู่ การเคี้ยวอาหารก็ยังเคี้ยวได้เป็นปกติ จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าเป็นโรคนี้ เพราะไม่มีอาการเจ็บปวด จะมีแต่เลือดซึมๆ ออกมาก เวลาแปรงฟัน หรือเวลาเคี้ยวอาหาร ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ จึงมักจะละเลยไม่ได้รับการรักษา ยิ่งในรายที่ไม่เคยพบทันตแพทย์เลย

โรคนี้จะลุกลามต่อไป เหงือกจะบวมมีหนอง การอักเสบจะลุกลามมากขึ้น ลงไปทำลายเยื่อหุ้มรากฟัน เอ็นยึดรากฟันรวมทั้งกระดูกหุ้มรากฟัน ทำให้กระดูกมีการละลายตัวทีละน้อย ฟันจะเริ่มโยก ในช่องปากจะพบว่าเหงือกมีลักษณะบวม เป็นผิวมันเรียบ ช้ำและมีสีแดงจัด ถ้าเอานิ้วมือลองกดดูตามขอบเหงือก อาจพบเลือดปนหนองซึมออกมา ทำให้มีกลิ่นปาก เป็นที่รังเกียจของคนอื่น โดยเจ้าตัวไม่รู้

ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งจะมีอาการปวดทรมานมาก ฟันจะโยกเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระดูกหุ้มรากฟันละลายหมด มีแต่หนองอยู่แทน เวลาเคี้ยวอาหาร หรือกัดถูกจะเจ็บปวดมาก เพราะฟันจะมีลักษณะลอยตัวสูงกว่าปกติเล็กน้อย เคี้ยวอาหารไม่ได้ ต้องไปพบทันตแพทย์ เพื่อถอนออก อาจถูกถอนทีละซี่หรือหลายซี่ บางคนอาจจะถูกถอนออกทั้งปาก โดยที่ฟันไม่ผุเลย บางคนก็ปล่อยให้มันหลุดไปเอง

คนส่วนมากมักคิดว่าโรคนี้ไม่สำคัญ เนื่องจากอาการจะค่อยเป็นค่อยไป คิดว่าแก่แล้ว ฟันก็ต้องล่วงหลุดเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ฟันสามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องถอนออก หรือใส่ฟันปลอมเลย ถ้าได้รับการรักษา และเอาใจใส่ดูแล

เนื่องจากอาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง เมื่อปวดหรือบวม ก็จะซื้อยาแก้ปวด หรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถซื้อเองได้ตามร้านยาทั่วไป หรือได้จากแพทย์ ทันตแพทย์ โรคก็จะทุเลาลง แต่นั้นไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง เพราะยังไม่ได้เอาสาเหตุที่เกิดโรคออก ฉะนั้นเท่ากับอมเอาเชื้อโรคไว้ รับประทานเอาน้ำเหลือง และเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายทุกวัน ฟันจะโยก เกไปมา ไม่เป็นระเบียบ จนในที่สุดก็อาจหลุดไปเอง

การรักษา หลักสำคัญคือ การรักษาความสะอาดของฟัน เพราะฉะนั้นถ้าเราหมั่นเอาใจใส่ดูแล แปรงฟันให้สะอาด ถูกวิธีตามทันตแพทย์แนะนำ และไปพบทันตแพทย์สม่ำเสมอตามนัด หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เราก็จะมีฟันที่แข็งแรงได้

แต่ถ้าเราปล่อยให้โรคลุกลามไปมากแล้ว การรักษาจะยุ่งยากมาก เนื่องจากเนื้อเยื่อที่ล้อมรอบรากฟัน รวมทั้งกระดูกหุ้มรากฟันถูกทำลายไป ถ้าถูกทำลายหมด ก็ต้องถอนฟันออกอาจเป็นหลายซี่ หรือทั้งปาก แต่ถ้ายังพอมีกระดูกหุ้มรากฟันอยู่ ก็อาจต้องรักษาคลองรากฟัน รวมทั้งจัดฟัน และทำศัลยกรรมในช่องปาก ร่วมกับการรักษาเหงือกไปด้วย เพื่อให้ฟันธรรมชาติที่เหลือ มีความแข็งแรงพอจะรับฟันปลอม ที่จะใส่ทดแทนฟันธรรมชาติที่ถูกถอนไป

การใส่ฟันปลอมนั้นคนทั่วไปมักคิดว่าง่ายๆ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความจริงแล้วการใส่ฟัน ต้องพิจารณาฟันที่เหลืออยู่ทุกซี่ รวมทั้งกระดูกหุ้มรากฟัน และสันเหงือกที่จะรองรับฟัน ว่ามีความสมบูรณ์แข็งแรงพอ ที่จะรับน้ำหนักการบดเคี้ยวของฟันปลอมได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเจ็บปวดเวลาเคี้ยว และใส่แล้วไม่สวย เป็นต้น ฟันปลอมนั้น ก็จะใช้ไม่ได้นานต้องทิ้งไป เสียทั้งเงินและเวลา เพราะฉะนั้นต้องมีการวางแผนร่วมกัน ระหว่างทันตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาทั้งด้านปริทันต์ รักษาคลองรากฟัน จัดฟันและใส่ฟัน

การใส่ฟันปลอม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดถอดได้ และชนิดติดแน่น

ถ้ายังมีฟันธรรมชาติเหลืออยู่ ก็อาจทำได้ทั้ง 2 ชนิด ขึ้นกับการพิจารณาของทันตแพทย์ และกำลังทรัพย์ แต่ถ้าไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่เลย ก็ต้องใช้เป็นชนิดถอดได้

วิทยาการเพื่อการบูรณะฟัน มีความก้าวหน้าขึ้น ปัจจุบันมีการฝังรากเทียม ในผู้ป่วยไม่มีฟันธรรมชาติเลย เพื่อให้ฟันปลอมติดแน่นได้ วิธีการนี้ต้องใช้เวลามาก เพราะต้องให้เวลาร่างกายปรับสภาพ เข้ากับรากฟันเทียมนี้ และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก

ผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกและข้อ และโรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการรักษาฟันและโรคของฟัน ก็มีผลกระทบกับโรคประจำตัวของผู้สูงอายุด้วย เชื้อโรคจากการอักเสบในช่องปาก จะเข้าไปในกระแสเลือด อาจทำให้โรคของผู้สูงอายุมีอาการมากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ และทันตแพทย์ด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน จะต้องให้แพทย์ควบคุมน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในสภาวะที่จะถอนฟันได้ เพื่อแผลจะได้หายเป็นปกติอย่างรวดเร็ว ไม่เรื้อรังต่อไป เป็นต้น

ท่านผู้อ่านที่มีผู้สูงอายุในบ้าน จึงควรเอาใจใส่ดูแล ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพในช่องปากของท่าน ควบคู่กันไป โดยพาไปพบแพทย์และทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควรได้รับการใส่ฟันปลอมทดแทน เมื่อถอนฟันไปแล้ว เพื่อทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวแทนฟันธรรมชาต ิและยังทำให้ใบหน้าของท่านสวยงาม ไม่ยุบ เหี่ยวย่น เนื่องจากไม่มีฟันรองรับริมฝีปาก ทำให้ริมฝีปากหุบเข้าไป ไม่สวยงาม ไม่อยากเข้าสังคมกับใคร ตัดขาดจากสังคมกลายเป็นคนโดดเดี่ยว

เมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพกายดี สุขภาพฟันที่แข็งแรง สุขภาพจิตก็ดีตามไปด้วย ทำให้ท่านมีความสุข มีอารมณ์แจ่มใสเข้ากับสังคมเพื่อนฝูงได้ เป็นที่พึ่งทางใจ และทางปัญญาแก่ลูกหลานสืบไป

จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ปัญหาเหงือกและฟันถ้าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทิ้งไว้นานๆ จนเป็นมาก การรักษาก็จะยุ่งยากมาก เสียทั้งเวลาและเงินทอง เพราะฉะนั้นเราควรดูแลเอาใจใส่ท่านเสียแต่เนิ่นๆ โดยพาไปพบทันตแพทย์ตามนัด เมื่อได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้วต่อไปทันตแพทย์ก็จะนัดท่านเพียง 6 เดือน หรือ 1 ปีต่อครั้งเท่านั้น ผู้สูงอายุก็จะหมดปัญหา เรื่องการบดเคี้ยวอาหาร และสุขภาพปากต่อไป


ทญ. วันเพ็ญ มโนมัยอุดม

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
 
ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไร เมื่อเราอายุมากขึ้น
 
ดูแลเท้าในผู้สูงอายุ
 
ตรวจร่างกาย ผู้สูงอายุ
 
หลายคำถามผู้สูงวัยอยากรู้
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.