หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ถนอมหน้าต่างหัวใจให้ไกลต้อกระจก
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เป็นวลีที่เราพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็เชื่อเช่นนั้น เพราะเวลาเรารักชอบใคร หรือต้องการดูความจริงใจจากใครคนใดคนหนึ่ง เรามักจะมองตา แต่หากวันหนึ่งไม่พบแววตาจรัสแสงแบบเดิม จากคนที่เราจ้องมองตาด้วย กลับพบก้อนฝ้าขุ่นๆ อยู่ในตา คงสร้างความรู้สึกแปลกๆ อยู่บ้าง

ต้อกระจก เป็นปัญหาทางสายตาที่มีผลต่อประชาคมโลกมานานครับ WHO เคยประเมินว่าทั่วโลก ที่มีประชากรถึง 6 พันล้านคน จะมีคนตาบอดจากต้อกระจก ประมาณ 35-40 ล้านคน สำหรับประเทศไทยต้อกระจก ยังเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ตาบอดด้วย

ต้อกระจกเป็นภาวะของกระจกตา หรือเลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ ตาจะมัวมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับต้อกระจกนั้นขุ่นมัวมากแค่ไหน คนที่เป็นต้อกระจก จะมีอาการฝ้าฟางมองอะไรไม่ค่อยเห็น คล้ายกับมีเยื้อสีขาวบางๆ มากั้นขวางไว้ นอกจากนี้อาจมองเห็นภาพซ้อน

อย่างไรก็ตาม ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ ที่สามารถถ่ายทอดจากตาข้างหนึ่งสู่ตาอีกข้างหนึ่งได้ โดยปกติต้อกระจกมักจะเริ่มเป็น เมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน บางรายอาจเริ่มเป็นอย่างช้าๆ หากไม่รักษาตาจะบอดสนิทในที่สุด

หลากสาเหตุเลนส์ตาขุ่นมัว

เมื่อกล่าวถึงต้อกระจก ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงผู้ที่อยู่ในที่มีแสงจัดมากเกินไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจกนั้นมาจากปัจจัยต่างๆ คือ

 
•
การติดเชื้อ การติดเชื้อหัดเยอรมันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ทารกที่คลอดออกมาจะเป็นต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แล้วขยายผลต่อเมื่อโตขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ การทำงาน และใช้ชีวิตประจำวัน
 
•
ถูกกระทบกระเทือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระแทกด้วย ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดต้อกระจกได้ภายใน 24 ชั่วโมง
 
•
อันตรายจากสารพิษ การได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น สารตะกั่ว สารหนู ยาฆ่าแมลงบางชนิด นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่อาจส่งผลข้างเคียงด้วย เช่น ยาลดความอ้วน ยาจำพวกสเตียรอยด์
 
•
วัยชรา เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากความเสื่อมของเซลล์แก้วตาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นมากน้อยไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ก็ยังมีสาเหตุที่เนื่องมาจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน หรือการขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน บี และ ซี ด้วยเช่นกัน

วิธีการรักษา

เท่าที่ผ่านมาใครก็ตามที่เป็นแล้ว มักจะต้องรักษาโดยใช้การแพทย์แผนใหม่ในการรักษา ซึ่งการรักษานั้นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยมีวิธีการผ่าตัดในหลายรูปแบบ

การผ่าตัดลอกต้อกระจกแล้วใส่เลนส์เทียมเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด วิธีการคือลอกต้อกระจกที่ขุ่นออกไป แล้วเอาเลนส์เทียมใส่ไว้ในถุงเลนส์

นอกจากนี้ยังมีวิธีการต่างๆ อีก เช่น การผ่าตัดเอานิวเคลียส และเนื้อเลนส์ออก กรรมวิธีก็คือ ผ่าตัดเอาก้อนนิวเครียสออก จากนั้นก็นำเครื่องมือดูดเนื้อเลนส์ออกมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดยังถือเป็นแก้กันตรงปลายเหตุ เพราะรอให้ความผิดปกติเกิดขึ้นก่อนจึงจะทำการรักษา ทั้งๆ ที่เราสามารถดูแลสุขภาพตาของเราให้ดูสมบูรณ์ได้ตลอดเวลา

และการที่เราไม่สามารถทำให้ดวงตาคู่ใสของเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นั้น อาจจะหมายถึงภูมิชีวิตของคุณได้ต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เป็นต้อกระจก ด้วยสาเหตุของโรคเบาหวาน และการขาดสารอาหาร ดังนั้น เราจำเป็นต้องดูแลสุขภาพของเราให้ดูแข็งแรงอยู่เสมอ

สารอาหารต้านภัยจากโรคตา

สำหรับเรื่องของสารอาหารนั้น พบว่าสารอาหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของตา มีหลายชนิดด้วยกัน คือ ธาตุสังกะสี วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี

สังกะสี

ธาตุสังกะสีมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ การคงสภาพของผนังเซลล์ การมองเห็นในที่มืด การรับรส และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

อาหารที่ให้ธาตุสังกะสีในปริมาณสูง และมีการดูดซึมได้ดี คือ อาหารทะเลจำพวกหอย ในคนและสัตว์ถ้าขาดสังกะสีแล้ว จะเจริญเติบโตช้า ผมร่วง ผิวหนังอักเสบและมีรอยโรค อุจจาระร่วง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตาบอดกลางคืน การรับรสผิดปกติ แผลหายช้า มีนิสัยและพฤติกรรมผิดแปลกไป

วิตามินเอ

วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แหล่งอาหารที่ให้ วิตามินเอสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา ผักใบเขียวเข้ม มะละกอ ฟักทอง มะม่วงสุก วิตามินเอมีความสำคัญต่อร่างกาย ในด้านการมองเห็นในแสงสลัว การบำรุงรักษาเซลล์บุผิว การเจริญเติบโต การทำงานเป็นปกติของระบบสืบพันธุ์ และ ระบบภูมิคุ้มกัน

อาการทางตาของการขาดวิตามินเอ เริ่มจากอาการตาบอดกลางคืนในระยะแรก และมีเยื่อบุตาขาวแห้ง เนื่องจากการสร้างเมือก และน้ำตาตามเยื่อบุต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่ออาการขาดรุนแรงขึ้น จะพบลักษณะที่เรียกว่า "เกล็ดกระดี่" เป็นคล้ายรอยแผลที่เยื่อตาขาว มีลักษณะย่น เมื่อมีภาระขาดมากขึ้น เยื่อกระจกตาจะแห้งทำให้ตาบอดได้

วิตามินอี

วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ทำหน้าที่เป็น สารแอนติออกซิแดนต์ วิตามินอีมีอยู่ในแหล่งอาหารทั่วไป เช่น น้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่างๆ จมูกข้าวสาลี วิตามินอีมีบทบาทสำคัญ ในการป้องกันโรคตาในทารกคลอดก่อนกำหนด

วิตามินซี

วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ มีคุณสมบัติเป็น แอนติออกซิแดนต์เช่นเดียวกับวิตามินอี ซึ่งช่วยป้องกันต้อกระจกได้ นอกจากนี้ หากขาดวิตามินซี ผิวหนังจะผิดปกติ แผลหายช้า การสร้างฟันผิดปกติ หลอดเลือดฝอยแตกง่าย และเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน

วิตามินซีมีอยู่มากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ ผักต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บรอคโคลี่ และผักใบเขียวหลายชนิด

สิ่งเหล่านี้มิใช่เรื่องของการป้องกัน แต่เรื่องเรานี้เราควรจะทำกันให้เป็นนิสัย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบถ้วน ก่อนที่จะสายเกินแก้

 

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 116

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
สายตามืดมัวเพราะ...ต้อกระจก
 
ต้อหิน...ปล่อยไว้อาจตาบอด
 
ต้อหิน...ไม่หินอย่างที่คิด
 
กล้ามเนื้อตา
 
ดูแลถูกวิธี สุขภาพดวงตาดีๆ เป็นของคุณ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.