หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรค ไอ บี เอส
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 

โรคไอบีเอส - ภัยเงียบข้างๆ คุณ

ใครเคยสังเกตบ้างไหมว่า ปัจจุบันอักษรย่อมีบทบาทมากขึ้นทุกที ตั้งแต่ยุคที่โทรทัศน์แทรกเข้ามาในชีวิตประจำวัน ผู้คนที่นิยมเรียกว่าทีวี จนมาถึงสมัยนี้หลายบ้านมีเครื่องเล่นซีดี หรือดีวีดีเพื่อให้ความบันเทิง  ครั้นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง เขาก็บอกว่ามีค่าเอฟทีมาเกี่ยวข้อง เศรษฐกิจฝืดเคือง ชาวบ้านก็เรียกว่ายุคไอเอ็มเอฟ ทางการแพทย์ก็มีชื่อของโรคและอาการต่างๆ ที่ใช้คำย่อกันจนติดปากเช่น เอดส์ ซึ่งเรียกง่ายกว่า “กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง”  เมื่อคนไข้อาการหนัก ก็จะถูกส่งไปอยู่ห้องไอซียู ซึ่งไม่มีใครเรียกว่าหน่วยอภิบาล ตามที่ราชบัญญัติท่านบัญญัติไว้

ไอบีเอส ก็เป็นอักษรย่อทางการแพทย์ ที่อาจไม่คุ้นหูกันนัก ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากทั่วโลก ที่มีอาการดังกล่าว ไอบีเอส (IBS) ย่อมาจากคำเต็มว่า Irritable  Bowel Syndrome ซึ่งยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทยอย่างเป็นทางการ โรคลำไส้แปรปรวน ในขณะที่บางท่านเรียกว่าโรคลำไส้หงุดหงิด

ไอบีเอส เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ ทั้งที่โครงสร้างของอวัยวะไม่มีอะไรผิดปกติ และไม่มีพยาธิสภาพใด อาการที่พบ มีตั้งแต่ท้องเสีย ท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน ผู้ป่วยมักจะปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวด หลายคนมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด หรือมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ไอบีเอส แบ่งออกเป็น สามชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดที่มีท้องผูกเป็นอาการเด่น ชนิดที่มีท้องเสียเป็นอาการเด่น และชนิดที่มีอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกัน

สำหรับในประเทศไทย คาดว่าประมาณ  20-30 % ของผู้หญิงไทย กำลังถูกคุกคามด้วยโรคไอบีเอส แต่ยังมีสัดส่วนที่น้อยที่ไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองกำลังเป็น อาการของโรคไอบีเอส จะเป็นๆ หายๆ  เรื้อรัง สร้างความรำคาญไปตลอดชีวิต โดยจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้ป่วย บางคนไม่กล้าไปเที่ยวไหนไกลๆ เพราะกลัวจะมีปัญหาเรื่องห้องน้ำ หลายคนต้องลางาน เมื่ออาการกำเริบเพราะปวดท้องมาก ทานยาแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น บางคนสุขภาพจิตเสื่อม เพราะกังวลว่าตนจะเป็นโรคร้าย ทำให้เครียด หวาดระแวง จนถึงขั้นซึมเศร้าก็มี

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคไอบีเอส จึงยังไม่มียาเฉพาะโรคนี้ หรือการรักษาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือใ้ห้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ เพื่อช่วยลดอาการปวดท้อง ดังนั้นผลการรักษาจึงยังไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยจึงมีอาการเป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาด และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการคิดค้นพัฒนายาสำหรับโรคไอบีเอสโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งเป็นการรักษามุ่งไปที่พยาธิสรีระวิทยา ของโรคไอบีเอสโดยตรง ซึ่งเป็นยาที่สามารถรักษาครอบคลุมอาการต่างๆ ของโรค ซึ่งได้แก่ อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูกได้ จึงทำให้ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผู้ที่สงสัยว่าตนอาจเป็นโรคไอบีเอส ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์

อาการที่ช่วยบอกว่าคุณอาจจะเป็นโรคไอบีเอส

 
1.
มีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้อง  และมักจะดีขึ้นหลังจากมีการถ่ายอุจจาระ
 
2.
ถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือ ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
 
3.
อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องอืด แน่นท้อง ถ่ายปนมูก ถ่ายไม่สุด เป็นต้น
 
       
    แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
 
โรควูบ (Syncope)
 
ไทรอยด์เป็นพิษ
 
โรคกระเพาะอาหาร
 
โรคธาลัสซีเมีย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.