หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
หาหมอสูติที่ถูกใจ...ได้อย่างไร
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว การมีหมอสูติคู่ใจไว้สักคน เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตเลย เพราะว่าสุขภาพของผู้หญิงมีหลายเรื่อง ที่ต้องคอยใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ซับซ้อนกว่าผู้ชายมาก และมีหลายภาวะทางนรีเวช ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เริ่มกันตั้งแต่เริ่มเป็นสาวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ กระทั่งถึงวัยทอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปวดท้องประจำเดือน โรคทางสูตินรีเวช เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเนื้องอกในอุ้งเชิงกรานที่ผู้หญิงยุคนี้เป็นกันมาก การมีซีสต์ที่เต้านม การตั้งครรภ์ที่ต้องมีหมอสูติคอยดูแล การเข้าสู่วัยเมโนพอส หรือที่สาหัสสำหรับผู้หญิงที่โชคไม่ดี ก็คือโรคมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งของระบบสืบพันธุ์ และโรคกระดูกพรุนนั่นเอง ฯลฯ

แต่ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจคำว่า คุณหมอที่ถูกใจเสียก่อนว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น ไม่ใช่คุณหมอที่แสนจะตามใจคนไข้ แต่หมายถึงคุณหมอ ที่ใส่ใจในสุขภาพของคุณอย่างจริงจัง มีประสบการณ์ ใส่ใจในการรักษา ตอบข้อซักถามของคุณอย่างเต็มใจ และให้คำแนะนำและข้อมูลชัดเจน รวมทั้งเก็บข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ดี... แล้วเราจะหาหมอสูติ-นรีเวชที่ถูกใจ ไว้คอยดูแลเป็นที่ปรึกษาเราได้อย่างไร HealthToday มีข้อคิดมาแนะนำกัน...

เริ่มต้นหาหมอสูติ-นรีเวช กันดีกว่า

 
•
ข้อแนะนำแรกคือ คุณควรพบหมอสูติ-นรีเวชในขณะที่คุณยังมีสุขภาพดีอยู่ อาจจะเริ่มต้นด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี รวมทั้งตรวจทางสูติ-นรีเวช ไปพร้อมกันด้วย แล้วลอง follow up กับหมอท่านนั้นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่เข้าสู่วัย 30 ปีขึ้นไป หรือหญิงที่แต่งงานแล้ว ควรจะเริ่มตรวจภายในและเต้านม การพบสูติแพทย์ในขณะที่ยังมีสุขภาพดี มีข้อดีที่ว่าหากคุณเคยพบแพทย์มาก่อน แล้ววันหนึ่งเมื่อคุณเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคทางสูติ-นรีเวชขึ้นมา คุณสามารถไปหาหมอที่คุณถูกใจได้ท่วงทัน ไม่ต้องเสียเวลาในการสืบค้นว่า จะไปหาหมอคนไหนดี
 
•
ค้นหารายชื่อหมอจากหลายๆ แหล่ง เช่น ขอคำแนะนำจากญาติมิตร เพื่อนฝูง ใครว่าคุณหมอท่านไหนดี คุณก็ควรจดชื่อ สถานที่ และตารางการออกตรวจของคุณหมอท่านนั้นๆ ไว้ แล้วเลือกท่านที่คุณสนใจที่สุด ลองไปขอตรวจสุขภาพดูก่อน นอกจากนี้วิธีที่มักจะไม่ค่อยผิดหวัง คือถ้าคุณมีหมอประจำตัวด้านอื่นๆ ที่ดูแลคุณอยู่แล้ว คุณอาจขอคำแนะนำให้คุณหมอท่านนั้น แนะนำสูติแพทย์ที่ท่านรู้จักให้ก็น่าจะดี

ควรถามอะไรเมื่อไปรับการตรวจ

 
•
ในยามฉุกเฉินดิฉันจะมาพบคุณหมอได้ที่ไหน อย่างไร
 
•
คุณหมอออกตรวจที่โรงพยาบาลใดบ้าง ขอทราบตารางวัน เวลาที่ออกตรวจในแต่ละแห่งด้วย
 
•
จำเป็นต้องนัดล่วงหน้าทุกครั้งหรือไม่ หรือสามารถโทรศัพท์สอบถามปัญหา ขอคำแนะนำจากคุณหมอ หรือพยาบาลทางโทรศัพท์จะสะดวกหรือไม่
 
•
หากคุณหมอไม่มาออกตรวจ ดิฉันสามารถพบหมอท่านไหนแทนได้บ้าง หรือจะฝากให้หมอท่านไหนดูแลแทน
 
•
ขอทราบข้อมูลว่าคุณหมอท่านที่คุณหาอยู่ มีความชำนาญด้านใดเป็นพิเศษ เช่น บางท่านชำนาญด้านสูติ การตั้งครรภ์ บางท่านชำนาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก บางท่านชำนาญด้านนรีเวช บางท่านเชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช บางท่านเชี่ยวชาญด้านวัยทอง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หากคุณทราบ คุณก็สามารถเลือกพบแพทย์ ตามความต้องการที่เหมาะกับสุขภาพของคุณได้

ถามตัวเองหลังจากได้พบหมอแล้ว

 
•
คุณหมอและพยาบาลที่คุณได้พบมาอัธยาศัยไมตรีดีหรือไม่
 
•
ทุกคำถามที่คุณสงสัยได้รับคำตอบจากหมอหรือไม่
 
•
การเข้าตรวจครั้งนี้เป็นไปอย่างเร่งรีบหรือไม่
 
•
เห็นด้วยกับหลักการรักษาของหมอท่านนี้หรือไม่
 
•
สถานพยาบาลที่คุณไปหาหมอสะดวก ต่อการเดินทางแค่ไหน ห่างไกลแค่ไหน อย่าลืมคำนึงถึงยามฉุกเฉินเผื่อไว้บ้าง โดยเฉพาะการจราจรบ้านเราไม่เป็นใจนักยามเร่งด่วน

ถ้าคุณประมวลผลแล้วเป็นที่พอใจ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิด คุณก็คงต้องมองหาหมอสูติคนอื่นๆ ต่อไป จนกว่าจะได้พบคนที่ถูกใจ และดีที่สุดสำหรับตัวคุณเอง แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจว่า หมอคนไหนใช่สำหรับคุณ ก็ควรเปิดใจรับวิธีการ และหลักการรักษาของหมอ ท่านที่คุณหาอยู่ให้ถึงที่สุดก่อน และอย่าลืมว่าหมอแต่ละท่าน ก็มีความชำนาญ ประสบการณ์ และสไตล์ต่างกัน ในขณะที่คนไข้แต่ละคน ก็มีความต้องการต่างกัน ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการหาหมอแต่ละท่านนั้น คุณควรให้เวลาในการรักษาต่อเนื่อง พยายามสื่อสารและจูนกันให้ดีที่สุด กับหมอคนที่คุณหาอยู่ เพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดด้วย

จำไว้ว่าสุขภาพสตรีโดยเฉพาะทางสูติ- นรีเวช ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อน จึงค่อยไปหาหมอ แต่คุณควรบรรจุไว้เป็นหนึ่งในแผน การตรวจสุขภาพประจำปีด้วยเลย เนื่องจากโรคของสตรีหลายๆ โรคหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ และรีบรักษาก็มีโอกาสหายขาดได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตลอดไป

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ปรับชีวิตให้สมดุลทุก 10 ปี
 
ตรวจก่อน รู้ก่อน ปลอดภัยกว่า
 
เรื่องของตรงนั้น... ที่ชั้นใน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.