หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบน ที่พบบ่อยตลอดปี เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจเป็นปีละหลายครั้ง โรคหวัดมักเป็นในฤดูหนาว ฤดูฝน หรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง และสามารถติดต่อกันได้ง่ายในสถานที่มีกลุ่มคน เช่น โรงเรียน สถานทีทำงาน เป็นต้น

สาเหตุ

 
•
ไข้หวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ของกลุ่มไวรัสต่างๆ แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มไรโนไวรัส (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด และเป็นกลุ่มไวรัสที่ติดต่อได้ง่าย นอกจานี้ ทีกลุ่มไวรัสโคโรนา (coronavirus) กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) เป็นต้น
 
•
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ เรียกว่า ชนิด เอ บี และ ซี ที่ทำให้เกิดโรคมากกว่าชนิดอื่น ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็น สายพันธุ์ย่อยอีกมากมาย โดยเฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ จะก่อให้เกิดโรคบ่อยที่สุด มีอาการรุนแรงมากกว่า และสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งมักจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม โรคไข้หวัดนกที่มีการแพร่ระบาดก็จัดอยู่ในกลุ่มไวรัสชนิดนี้

การเป็นโรคไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ในแต่ละครั้ง จะเกิดจากเชื้อไว้รัสเพียงหนึ่งสายพันธุ์ย่อย เมื่อหายแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนั้น และถ้าเป็นหวัดครั้งใหม่ จะเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่หมุนเวียนไป

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่งได้รวดเร็ว โดย

 
•
การหายใจเอาเชื้อโรค ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป ซึ่งมาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย
 
•
การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะของผู้ป่วย จากการสัมผัสถูกมือ และสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อหวัด เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ โทรศัพท์ ปากกา เป็นต้น แล้วใช้มือขยี้ตา แคะจมูก หรือเข้าปาก เชื้อหวัดจะเกาะติดเข้าสู่ร่างกายได้

อาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

 
•
ไข้หวัด จะมีอาการคอแห้งและคันคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม และไอ อาจมีหรือไม่มีเสมหะ บางครั้งอาการไออาจนาน 2-3 สัปดาห์ ไข้หวัดในเด็กมักมีไข้ ส่วนผู้ใหญ่อาจะไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำๆ
 
•
ไขัหวัดใหญ่ จะมีอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่จะเป็นรวดเร็ว และมีความรุนแรงมากกว่า มักจะมีอาการภายใน 1-4 วัน หลังการติดเชื้อ คือ มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน จึงค่อยๆ ลดลง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อ่อนเพลียมากฉับพลัน ปวดกระบอกตา ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ อาจไออยู่นาน 1-2 สัปดาห์ หลอดลมอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วงในบางราย ทำให้นอนพักฟื้นหลายวัน

ไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีอาการรุนแรง จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในคนที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันเสื่อม เป็นต้น และทำให้มีอาการรุนแรงได้ ในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็กอาจชักจากไข้สูง และหญิงมีครรภ์อาจทำให้แท้งได้

การรักษา

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ผู้ที่ดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง จะแข็งแรงขึ้นและหายป่วยได้เองใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้อาการทุเลาโดยรวดเร็ว และไม่ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

ขณะที่ป่วยเป็นไขัหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ถ้าปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง และไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไปทำให้เกิด การอักเสบของอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งมักเป็นในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่ไม่พักผ่อนหรือตรากตรำงานหนัก ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ เช่น

 
•
คออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ
 
•
ไซนัสอักเสบ
 
•
หูชั้นกลางหรือหูชั้นในอักเสบ
 
•
กล่องเสียงอักเสบ
 
•
หลอดลมอักเสบ
 
•
ปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นต้น

การดูแลสุขภาพเมื่อเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

 
1.
นอนพักผ่อนให้มากๆ ดูแลร่างกายให้อบอุ่น ควรพักอยู่บ้าน และควรแยกนอน เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
 
2.
ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ให้มากๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีเสมหะและไอ ช่วยให้เสมหะใส ลดอาการระคายคอและคัดจมูก ระยะนี้ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็นๆ
 
3.
รับประทานอาหารอ่อนที่มีประโยชน์และย่อยง่าย
 
4.
ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาไอหรือจาม กระดาษเช็ดน้ำมูกและน้ำลาย ควรใส่ถุงและิทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
 
5.
ไม่ควรอดนอนหรือตรากตรำทำงานหนัก ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
 
6.
เมื่อมีอาการไอ เจ็บคอ หรือภาวะแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้อาการทุเลาโดยเร็ว และไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่นๆ ไม่ควรซื้อยาชุด นอกจากไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นอันตรายได้

ผู้ที่มีอาการไอ ระยะนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสต่อสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่ ควันมลพิษ เป็นต้น เพราะจะทำให้มีอาการรุนแรง

 
7.
เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และเด็กโตที่มีไข้นานกว่า 3 วัน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

การป้องกันการเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

 
1.
พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือนอนรวมกับผู้ที่เป็นโรคหวัด
 
2.
ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคหวัด
 
3.
ล้างมือบ่อยๆ หลังการสัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตา แหย่จมูกหรือเข้าปาก
 
4.
ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ และอย่าตรากตรำงานหนัก
 
5.
ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้เหมาะกับฤดูกาล ไม่ควรตากฝนและตากแดดที่ร้อนจัดนานๆ
 
6.
ไม่ควรอยู่ในสถานที่มีคนแออัด โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคหวัด
 
7.
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีความเสี่ยงต่อโรคปีละครั้ง ซึ่งวัคซีนจะป้องกันโรคได้ต่อปี

 

 

นพ. วิชัย วิริยะอุตสาหกุล และ ประภัทธ์ โสตถิโสภา

 
       
    แหล่งข้อมูล : เอกสารเผยแพร่ - หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ไซนัสอักเสบ
 
ไทรอยด์เป็นพิษ
 
โรคไข้เลือดออก
 
ไข้เลือดออก
 
ป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกให้ทันการณ์
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.