หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
อาการ การวินิจฉัย และการรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว - Leukemia
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาการ

 
1.
เลือดจาง ซีด 
 
2.
หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย 
 
3.
เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือก เป็นจ้ำตามตัว 
 
4.
ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต 
 
5.
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย มีไข้ 

การวินิจฉัย

เนื่องจากอาการแสดงต่างๆ ที่กล่าวเป็นอาการของโรคอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ไม่ใช่ลิวคีเมีย เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวินิจฉัยแยก จากโรคอื่นๆ โดยการตรวจเลือดและการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่นการตรวจไขกระดูก ก่อนที่จะบอกได้แน่นอน โรคนี้เป็นโรคร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการวินิจฉัย จึงต้องกระทำด้วยความระวัง ควรจะมีหลักฐานเพียงพอก่อน ที่จะให้การวินิจฉัยลงไปอย่างแน่นอนว่า ผู้ป่วยเป็นลิวคีเมียจริง

การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย จากการดูลักษณะเม็ดเลือดที่ได้ จากการเจาะเลือดตามปกติ เรียกว่าการตรวจ complete blood count (CBC) ผู้ตรวจที่มีความชำนาญ สามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว จากการดูสไลด์เพียงแผ่นเดียว อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดจากไขกระดูกเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนมากขึ้น การเจาะไขกระดูกดังกล่าวทำได้โดย ใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ดูดเลือด จากไขกระดูกบริเวณสะโพก หรือบริเวณกลางหน้าอก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรม หรือทางโลหิตวิทยาจะสามารถให้การวินิจฉัยได้

การรักษา

การรักษา โดยทั่วไปจะใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก และรังสีรักษา เพื่อเสริมการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด และอายุของผู้ป่วยด้วย ข้อแนะนำสำหรับการป้องกันโรคนี้ คือ การหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับการสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสี และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง สีทาบ้าน ควันพิษต่างๆ และผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละครั้ง

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง และสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน หากเป็นชนิดเรื้อรัง แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดแบบรับประทาน เพื่อให้จำนวนเม็ดเลือดที่ผิดปกติลดลง และขนาดของตับม้ามลดลงในเวลาที่เหมาะสม การให้ยารับประทานอาจมีการปรับขนาดของยาบ้างตามจำนวนเม็ดเลือดขาว แต่จะให้ไปเรื่อยๆ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ถึงแม้จะมีอาการไม่มาก แต่เป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว วิธีที่อาจรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ให้หายขาดและได้ผลดีได้ คือการปลูกถ่ายไขกระดูก

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน มีเป้าหมายคือต้องการให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ (remission) ระยะสงบเป็นระยะที่จำนวนของเซลล์มะเร็งลดลง และเซลล์ปกติมีจำนวนและหน้าที่กลับมาปกติ ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะสงบจะอยู่ในระยะนี้ได้ประมาณ 3-9 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ (relapse)

การรักษาเพื่อให้เข้าสู่ระยะสงบนั้น รักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ขนาดค่อนข้างสูง เข้าทางเส้นเลือด หลังจากให้ยา ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง และเม็ดเลือดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อง่ายและมีไข้ ระยะนี้เป็นระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อน และอันตรายถึงชีวิตได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะและให้เลือดประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้น หากผู้ป่วยไม่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ก็จะฟื้นตัวเข้าสู่ระยะสงบ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปกติเหมือนตอนก่อนจะป่วย แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ จึงต้องให้การรักษาเพื่อที่จะป้องกันการกลับเป็นโรคใหม่ โดยการให้ยาเคมีบำบัดซ้ำในขนาดสูง หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละราย มักจะต้องได้เคมีบำบัดหลายรอบหลายครั้ง โดยทั่วไปประมาณ 3-6 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2-3 เดือน ในปัจจุบันเราสามารถรักษา ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ให้หายขาดได้ประมาณ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด การที่ผู้ป่วยแต่ละรายจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุด คือ อายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย และชนิดความผิดปกติทางพันธุกรรมของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ผู้ป่วยเป็น

การรักษาโรคลิวคีเมียทำได้ 2 วิธี คือ 

 
1.
การป้องกันไม่ให้เกิดโรค 
 
2.
การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว 

การป้องกันไม่ให้เกิดโรค

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก แม้ว่าวิทยาการก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม เรายังไม่มีวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคลิวคีเมียได้ เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนสาเหตุว่า สาเหตุต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเพียงสาเหตุชักจูงเท่านั้น เรายังไม่ทราบว่า ทำไมคนบางคนได้รับสาเหตุชักจูงแล้วเป็นโรคลิวคีเมีย แต่บางคนไม่เป็น 

การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว

การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้น แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ การรักษาตัวโรคลิวคีเมียเอง และการป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน หรืออาการต่างๆ ที่เป็นผลจากโรคลิวคีเมีย 

การรักษาตัวโรคลิวคีเมียเอง การรักษาโรคลิวคีเมียเองนั้น ทำได้โดยการใช้ยาซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าหรือทำลายเซลล์ลิวคีเมีย (และในขณะเดียวกันก็อาจจะทำลายเซลล์ เม็ดเลือดที่ปกติด้วย) ในปัจจุบันนี้ การรักษาโรคลิวคีเมียได้ผลดีขึ้นมาก ทั้งนี้ก็เป็นผลจากยาที่นำมาใช้มีคุณภาพดีขึ้น ลิวคีเมียบางชนิด อาจจะรักษาให้หายขาดได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิวคีเมียในเด็ก สำหรับลิวคีเมียในผู้ใหญ่แม้ว่าการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังไกลจากความหวังในเรื่องหายขาด

นอกจากนี้ การรักษามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับเลือดเข้าไปชดเชย เพื่อให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงมากพอ ที่จะทำหน้าที่นำออกซิเจน ไปให้อวัยวะต่างๆ ได้

การป้องกันและการรักษาโรคแทรกซ้อน การป้องและรักษาโรคแทรกซ้อนนั้น ก็ทำไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น ซีดมากก็ให้เลือดถ้า เกล็ดเลือดต่ำ มีอาการเลือดออก ตามที่ต่างๆ ก็ต้องให้เกล็ดเลือด 


ผู้ป่วยพวกนี้มักจะมีอาการติดเชื้อง่ายจาก 2 สาเหตุ คือ


  1. เป็นผลจากโรคลิวคีเมียเอง เพราะมีเม็ดเลือดขาวที่ไม่ปกติ ไม่สามารถต่อสู้กับผู้ร้ายได้ เพราะฉะนั้น จึงมีการติดเชื้อบ่อย
  2. เป็นผลจากการรักษาด้วยยา ซึ่งสามารถกดไขกระดูกได้ด้วย ดังนั้นเม็ดเลือดขาวอาจจะต่ำกว่าปกติระยะหนึ่ง ทำให้มีการติดเชื้อง่าย

ไม่ว่าจะเป็นผลจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคเหล่านั้น และเนื่องจากขาดเม็ดเลือดที่ดีๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อ โรคพวกนั้นได้ ก็อาจจะเป็นที่จะต้องให้เม็ดเลือดขาวที่ดีๆ เข้าไปในผู้ป่วยด้วย การหาทั้งเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว จำเป็นต้องได้เลือดจากผู้บริจาคในวันเดียวกัน เพื่อจะทำการปั่นแยกเอาเฉพาะเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดให้ผู้ป่วย เพราะในเลือดที่บริจาคมาหลายวัน ทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดหายไป หรือเสื่อมหน้าที่ไปเกือบหมดแล้วทั้งนั้น

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลิวคีเมียอาจมีผลแทรกซ้อนได้ เช่น ยาที่ทำลายเซลล์ลิวคีเมียโดยตรงอาจจะทำให้ผมร่วง หรือเป็นหมันได้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยส์ อาจทำให้หน้าอ้วน เป็นแผลเป็นในกระเพาะอาหาร หรือกระดูกผุได้ เป็นต้น

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.thailabonline.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง...ตัวร้าย
 
การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย - Leukemia)
 
สาเหตุ และชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว/ลิวคีเมีย
 
เคมีบำบัด คืออะไร
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.